พฤกษ์
รูปผักพฤกษ์
ชื่อสามัญ : Indian Walnut, Siris
ชื่ออื่นๆ : ซึก, ซิก, จามจุรี, กะซึก, ชุงรุ้ง, ก้ามปู, คะโก, จามรี (ภาคกลาง) มะขามโคก, มะรุมป่า (นครราชสีมา) ก้านฮุ้ง (ชัยภูมิ) ถ่อนนา (เลย) พญากะบุก (ปราจีน) จ๊าขาม (ภาคเหนือ) ตุ๊ด (ตาก) กรีด, แกร๊ะ (ภาคใต้) กาแซ, กาไม (สุราษฎร์ธานี)
วงศ์ : วงศ์ถั่ว Leguminosae และวงศ์ย่อย Mimosoideae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Albizia lebbeck Benth.
พฤกษ์หรือซึกเป็นไม้ยืนต้นสูงใหญ่ ต้นที่อายุมากๆอาจสูงได้กว่า 25 เมตร กิ่งก้านแผ่ขยายให้ร่มเงากว้างขวาง ยอดและใบอ่อนซึกมีรสหวานมัน ลวกหรือต้มให้รสชาติดีมาก โดยเฉพาะหากผัดไฟแดงหรือแกงเลียงใส่ปลาย่างหรือกุ้งแห้ง
อาจนับเป็นผักยืนต้นที่มียอดอ่อนที่รสชาติดีมากอีกชนิดหนึ่งในระดับเดียวกันกับผักอีกล่ำหรือมะกล่ำตาช้างทีเดียว
ดอกอ่อนลักษณะเหมือนดอกจามจุรี แต่สีออกเหลืองอ่อน แทนที่จะเป็นมีชมพูเหลือบ กินได้เหมือนใบอ่อน มีรสมันเช่นกัน
เลียงผักซึก
ยอดผักซึกอ่อนๆ ที่แตกจากการตัดกิ่งใหญ่จะหวานอร่อย นุ่มนวล ผัดไฟแดงได้ความกรอบกรุบ แต่ถ้ามีใบที่ไม่อ่อนมากนักปนมาด้วย ก็เหมาะจะเลียงซดน้ำร้อนๆ บางคนชอบใส่หางกะทิเพิ่มความมันให้น้ำแกง ทั้งยังส่งผลให้กลิ่นกะปิในเครื่องแกงหอมกว่าเลียงในน้ำเปล่าๆ
เครื่องปรุง
พริกไทย หอมแดง รากกระชาย กะปิ กุ้งแห้ง ผักซึก เกลือป่น
วิธีปรุง
ตำพริกไทย หอมแดง กะปิ กุ้งแห้ง และรากกระชายให้แหลกเป็นน้ำพริกเลียง เอาละลายในหม้อน้ำ ตั้งไฟให้เดือด เติมเกลือป่นให้ออกรสเค็ม แล้วใส่ผักซึก ต้มจนผักสุกและกลิ่นน้ำแกงหอมกะปิ
จาก หนังสือผักยืนต้น กินผักอายุยืน โลกอายุยาว โดย กฤช เหลือลมัย หน้า 43
ใบอีซึกสด 1 กิโลกรัม
โปรตีน ร้อยละ 16.2
เส้นใยอาหาร ร้อยละ 29.6
พลังงาน 18.8 MJ/kg
แคลเซียม 19.3 g/kg
ฟอสฟอรัส 1.7 g/kg
กรดอะมิโน อาร์จินีน ร้อยละ 4.8 ของโปรตีน
กรดอะมิโน ลูซีน ร้อยละ 6.8 ของโปรตีน
กรดอะมิโน วาลีน ร้อยละ 4.9 ของโปรตีน
ที่มา : CIRAD, 1991; Gaulier, 1968; Khajuria et al., 1968; Malik et al., 1967; Sharma et al., 1966
ส่วนที่ใช้ประกอบอาหาร : ใบ ยอดอ่อน